การขับเคลื่อนด้าน
การศึกษา

ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน


ความเป็นมา

การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา หมายถึง การดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในภาคการศึกษาทุกระดับ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติภารกิจ เช่น การบริหารการศึกษา การบริหารจัดการงบประมาณการศึกษา การจัดสถานศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดกิจกรรมนักเรียน เป็นต้น เพื่อที่ท้ายที่สุดแล้วเกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีปฏิบัติ จนเป็นวิถีชีวิต เพื่อผลให้เกิดการปลูกฝังและบ่มเพาะผู้เรียน เด็ก และเยาวชน ให้มีจิตสำนึกและอุปนิสัย “พอเพียง” (Sufficiency Mindset and Behavior) เพื่อจะได้สามารถดำรงตน และดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน เนื่องมาจากกระแสพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ปวงชนชาวไทยได้เริ่มรับรู้และเรียนรู้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ความตอนหนึ่งว่า

“...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อยถ้าทุกประเทศมีความคิด ‘อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ’ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณ และความมีเหตุผล...”

จึงเป็นที่มาของความเข้าใจว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ทุกคน ทุกประเทศสามารถนำไปใช้ในทุกกิจกรรม ทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

เริ่มมาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ได้น้อมนำเนื้อหาเกี่ยวกับ “หลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”ตามคำนิยามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เข้าสู่หลักสูตร โดยระบุไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ของสาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระเศรษฐศาสตร์ กำหนดให้นักเรียนทุกระดับชั้น เมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตรนี้แล้ว จะต้องเข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตและการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ ส่งผลให้เกิดการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วไป

แต่ก็พบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้องชัดเจน เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการศึกษา เนื่องจากการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ดังกล่าว มักมุ่งเน้นที่กิจกรรมเกษตร การปลูกพืชผักสวนครัวในโรงเรียน หรือกิจกรรมการออมทรัพย์ เป็นส่วนมาก แต่ยังไม่ได้มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นหลักคิด หลักปฏิบัติในการประพฤติตน และการทำกิจกรรมต่างๆ ตามมาตรฐานตัวชี้วัดในหลักสูตรการศึกษามุ่งหวังให้เกิดขึ้น


ใน ปี พ.ศ. 2549 คณะทำงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำตัวอย่างแผนการจัดการเรียนการสอนสำหรับครูที่สอนแต่ละสาระการเรียนรู้ และระดับชั้นต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษา โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และครูจากทั่วประเทศร่วมกันทำงาน จนได้กรอบเนื้อหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ของแต่ละช่วงชั้น และตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทุกระดับชั้น และทุกสาระการเรียนรู้ โดยเผยแพร่ไปทั่วประเทศเมื่อต้นปี พ.ศ. 2550


ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ให้มีความชัดเจนในเป้าหมายและคุณภาพของผู้เรียน และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งได้กำหนด 1 ใน 5 เป้าหมายของหลักสูตร คือ “การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ มีวินัย และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Character) หรือจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน 8 ประการ ได้แก่ รักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ การกำหนดมาตรฐานตัวชี้วัดในหลักสูตร พ.ศ. 2551 จึงเป็นไปในทิศทางการปลูกฝังและบ่มเพาะผู้เรียนให้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการคิด การวางแผน และการปฏิบัติตน พร้อมกับคุณลักษณะอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21

ประเภทโรงเรียนพอเพียง

สถานศึกษาพอเพียง (สถพ.)

หมายถึง สถานศึกษาที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสถานศึกษาและจัดการศึกษาในสถานศึกษาในทุกมิติ (Whole School Approach) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษาให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติในการทำงานและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดค่านิยมและบ่มเพาะอุปนิสัยและคุณลักษณะ “อยู่อย่างพอเพียง” รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งทางกายภาพ วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติ

คณะกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โดยกำหนดเป้าหมายให้มีการพัฒนาและขยายผลให้มี “สถานศึกษาที่เป็นแบบอย่างในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (สถานศึกษาพอเพียง) ไม่ต่ำกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2552 และสถานศึกษาทุกแห่งน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สถานศึกษาภายในปี พ.ศ. 2554 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ข้างต้น คณะทำงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ร่วมมือกันพัฒนาสื่อเรียนรู้ต่างๆ และวิทยากรขับเคลื่อนขยายผล เพื่อพัฒนาคุณภาพการดำเนินงาน และพัฒนาเครื่องมือประเมิน “สถานศึกษาพอเพียง” สำหรับผู้ประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดที่มีสถานศึกษาในการกำกับดูแล เพื่อให้การขับเคลื่อนสถานศึกษาพอเพียงเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ จนสามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในระยะแรก

โดยมีสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินเป็นสถานพอเพียง 1,261 แห่ง จากทุกสังกัด ในปี พ.ศ. 2552 ต่อมา สพฐ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเพื่อขยายผลสถานศึกษาพอเพียง โดยกำหนดเป้าหมายให้มีสถานศึกษาพอเพียงในสังกัด สพฐ. ไม่น้อยกว่า 9,999 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งก็ได้เกินเป้าหมาย คือ มีสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง 13,837 แห่ง และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีสถานศึกษาในสังกัดก็ได้ดำเนินการขยายผลเช่นเดียวกับ สพฐ. อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันมีสถานศึกษาพอเพียงจากทุกสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – 2559 จำนวน 23,796 แห่ง ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2560)

สถานศึกษาพอเพียงที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (สปล.)

หมายถึง สถานศึกษาพอเพียงที่มีผลที่ได้รับการคัดเลือกเป้น “รางวัลสูงสุดระดับชาติ สถานศึกษาพอเพียงที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศระดับประเทศ” ประกาศโดยศูนย์สถานศึกพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่สถานศึกษาตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา และช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการให้สถานศึกษาที่ได้รับประกาศเป็นสถานศึกษาพอเพียงกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ และมีศักยภาพเปšนแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และการจัดการศึกษาที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่สถานสถานศึกษาพอเพียงอื่นๆ รวมถึงชุมชนและสังคมในวงกว้างได้ ยกระดับคุณภาพไม่ให้หยุดนิ่งหลังจากได้รับการประกาศเปšนสถานศึกษาพอเพียงแล้วโดยเปิดโอกาสให้ส่งผลงานการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการศึกษา ซึ่งปรากฎภาพความสำเร็จของสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรของสถานศึกษา และผู้เรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของปฏิบัติตนให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา (ศรร.)

หมายถึง สถานศึกษาพอเพียงที่มีความประสงค์จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพที่จะเป็นพี่เลี้ยงขยายผลไปสู่แก่สถานศึกษาอื่นๆ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สถานศึกษา ด้วยการเป็นสถานที่ศึกษาดูงานเกี่ยวการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีบุคลากรที่สามารถเป็นวิทยากร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู หรือนักเรียนแกนนำ เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาอื่นๆ ที่สนใจได้ และมีผลงานเชิงประจักษ์ว่าสามารถเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสถานศึกษาอื่นให้ผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียงได้อย่างน้อย 1 แห่ง ซึ่งมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงเหล่านี้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และดำเนินการโดยเน้นความสมัครใจ การถอดบทเรียนการสร้างเครือข่าย ผ่านตลาดนัดวิชาการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนเมื่อได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2553 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายขับเคลื่อนฯ หลายหน่วยงานพัฒนาเครื่องมือและขั้นตอน วิธีการประเมิน ตลอดจนพัฒนาและแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ทำให้ในปัจจุบันมีสถานศึกษาพอเพียงที่ผ่านการประเมินเป็น ศรร. ทั้งสิ้น 205 แห่ง จากทุกสังกัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560)



การพัฒนาสู่ความเข้มแข็ง
และยั่งยืน

ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ (ศสพ.มยส.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2557 มีวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาพอเพียงให้สามารถเป็นแบบอย่างได้อย่างยั่งยืน และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หลักการทรงงาน และการปฏิบัติตนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน รวมถึงการสนับสนุนภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โดยเน้นการค้นหาแบบอย่างการปฏิบัติที่มีคุณภาพ คุณค่า และมีประโยชน์ เพื่อนำมาเผยแพร่และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยเสริมหนุนสถานศึกษาเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งและเป็นแบบอย่างได้อย่างยั่งยืนตามแผนการศึกษาแห่งชาติ



แผนการศึกษาชาติ
พ.ศ.2560-2579 ฉบับเต็ม



ดูเพิ่มเติม